แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

22 มิถุนายน ...รำลึก 149 ปี มรณากาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม 
19 พฤษภาคม 2564    3,316

22 มิถุนายน วันมรณภาพของหลวงพ่อโต

22 มิถุนายน 2564 : รำลึก 149 ปี มรณากาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) 
 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มรณภาพ ที่ วัดบางขุนพรหม ใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก
ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี
อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี
 

สมเด็จโต วัดระฆัง


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) พระมหาเถระที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมาก นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล โดยเฉพาะ พระสมเด็จ ที่ท่านได้สร้างขึ้น ถือเป็น พระเครื่องเบญจภาคี 1 ใน 5 ของประเทศไทย

พระสมเด็จวัดระฆัง คือ พระเครื่องรางรูปสมมติพระพุทธเจ้า สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 เซนติเมตร สีขาว ส่วนประกอบสำคัญในการสร้าง ปูนเปลือกหอย ข้าวก้นบาตร ผงวิเศษ 5 ชนิดและน้ำมันตังอิ๊ว
พระสมเด็จวัดระฆัง มีหลายพิมพ์ด้วยกัน แต่ที่นิยมได้แก่ พิมพ์พระประธาน พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์ปรกโพธิ์
 

สมเด็จวัดระฆัง
ภาพจาก หนังสือ พระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 9 ฉบับ 98 ตุลาคม 2553 หน้า 24 โดย เชนท์ ช้างให้ 

นอกจากนี้ คาถาชินบัญชร บทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมสวดมากที่สุด สันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานในพระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 4)

คาถาชินบัญชร เชื่อกันว่า มีความหมายอันเป็นมงคลสูงยิ่ง มีพุทธคุณช่วยปกป้องคุ้มครอง และเสริมดวงชะตาให้ผู้สวดได้อีกด้วย โดยความหมายของ คาถาชินบัญชร คำว่า ชินบัญชร นั้นมาจากภาษาบาลี  คำว่า ชิน หมายถึง พระพุทธเจ้า คำว่า บัญชร หมายถึง กรง หรือ เกราะ ความหมายโดยรวมของ คาถาชิญชร จึงแปลได้ว่า กรง หรือ เกราะป้องกันภัยของพระพุทธเจ้า ซึ่งเนื้อหาในคาถาในชินบัญชรเป็นการสวดอัญเชิญพระพุทธเจ้า จำนวน 28 พระองค์ เสด็จมาสถิตอยู่ในทุกอณูของร่างกาย เปรียบเสมือนการอาราธนาพุทธคุณเป็นเกราะปกป้องคุ้มกันภัย และเสริมสิริมงคลนานาประการให้แก่ผู้สวดบูชา
 

สมเด็จโต วัดระฆัง


ตามประวัติ สมเด็จโต ท่านเกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี) เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331) ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ "พระธรรมกิติ" และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ "พระเทพกระวี" หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า

“สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ”

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุด และเป็นชั้นสุดท้าย ที่ท่านได้รับ ตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า "สมเด็จโต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า "ขรัวโต"
 

พระสมเด็จ

ภาพจาก หนังสือพระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 7 ฉบับ 77 มกราคม 2552 หน้า 33 โดย ศาล มรดกไทย