แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

องค์จตุคามรามเทพ อานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก
29 ตุลาคม 2564    4,913

ท้าวขัดตุคาม และ ท้าวรามเทพ   คือ เทพรักษาพระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช สององค์ รวมเรียกว่า จตุคามรามเทพ 
จตุ หมายถึง สี่ คาม (คาม-มะ) เขตคาม หมายถึง อาณาเขตหรือบ้าน เมื่อรวมกันนัยความหมายที่มากกว่าความเป็นทิศทั้ง 4 ของบ้าน หรืออาณาเขต คือทิศทั้งสี่ ซึ่งหมายถึงทิศที่มีท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ดูแลอยู่  

จตุคามรามเทพ

เดิมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เชื่อกันว่าเป็นเทพชั้นสูง และมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย แต่เมื่อได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาเข้ามา ท้าวขัดตุคาม และ ท้าวรามเทพ จึงถูกเปลี่ยนสถานะเป็น เทวดารักษาพระบรมธาตุ และเปลี่ยนชื่อให้เป็น ท้าวจตุคาม และสถิตอยู่บนที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ

ในปี พ.ศ. 2530 เมื่อมีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ จึงมีการอัญเชิญจตุคามรามเทพ ไปสถิต ณ ทางขึ้นลานประทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์  ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช  ส่วนบริวารทั้ง 4 เป็นเทวดารักษาเมืองประจำทิศของเมืองเช่นกัน

จตุคามรามเทพ

โดย วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อมานมัสการพระบรมธาตุ โบราณสถานคู่เมืองภาคใต้แล้ว จะนิยมมาขอพรองค์ท้าวจตุคามรามเทพ เทพารักษ์ผู้เฝ้าองค์พระมหาธาตุ

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร


องค์จตุคามรามเทพ ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวาง ตามจารึกของชาวศรีวิชัย  "มีอานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก"
การขออธิษฐานจากพระองค์นั้นทำได้โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ

  1. อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อศีลธรรม
  2. เมื่อได้รับสิ่งที่หวังแล้ว ต้องรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้กับพระองค์
  3. ควรจะสร้างกุศลกรรมถวายแด่องค์จตุคามรามเทพ

 

การจัดสร้างรูปเคารพขององค์จตุคามรามเทพ
เมื่อปี พ.ศ. 2530 มีการจัดสร้างรูปเคารพขององค์จตุคามรามเทพ เป็นครั้งแรกในรูปแบบพระผงสุริยัน-จันทรา ดวงตราพญาราหู มีแวดล้อมด้วยพระราหู 8 ตน ตรงกลางมีรูปของเทวรูปประทับนั่ง 2 เศียร 4 กร ทรงเครื่องอาวุธ และผู้สร้างในสมัยนั้นก็ให้ความหมายไว้ว่า คือ รูปจำลองสมมติของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นตัวแทนขององค์จตุคามรามเทพ กษัตริย์แห่งกรุงศรีวิชัย

นอกจากนี้ยังมี เหรียญเศียรหลักเมือง ปี 2530 เนื้อโลหะ สร้างในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมยอดชัยหลักเมือง นครศรีธรรมราช อันเป็นวันมหามงคลยิ่งใหญ่ในรอบฟันปี คือวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2530 ตรงกับเดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ ปีเถาะ  รูปแบบด้านหน้าจำลองส่วนบนของเสาหลักเมือง ด้านหลังจำลองเป็นรูปพญาราหูอมจันทร์รายล้อมตรา 12 นักษัตร 8 ทิศ 


ตัวอย่าง เหรียญแสตมป์จตุคามรามเทพ 30 เนื้อทองแดง "ยันต์ทะลุ 16 ตัว"

เหรียญแสตมป์จตุคามรามเทพ 30

 

ข้อมูลที่มา 
wikipedia.org
mgronline.com