แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระผงของขวัญ หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
24 มีนาคม 2563    2,659

พระผงของขวัญหลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่นแรก


โดย ศาล มรดกไทย

 

ในบรรดาวัตถุมงคลพระเครื่องหลากหลายที่มีอยู่ในเมืองไทย ถ้าจะกล่าวถึงพระเครื่องที่มีผู้นับถือบูชาเป็นจํานวนมากที่สุด และได้รับการกล่าวขวัญถึงประสบการณ์ทางด้านแคล้วคลาดจากภยันอันตรายเรียกได้ว่า ผู้ใดบูชาพระเครื่องที่เป็นของแท้ๆ จะมั่นใจในความปลอดภัยได้แน่นอนคือ 1.พระเครื่องหลวงพ่อพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา 2.พระเครื่องหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี 3.พระเครื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

ซึ่งในโอกาสนี้ ขอนําเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจในพระเครื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำ รุ่นแรก โดยหลวงพ่อพระมงคลเทพมุนี (สด) ท่านได้สร้างเอาไว้ และถ้ากล่าวถึง หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านจะเป็นพระที่ประชาชนชาวไทยนับถือเป็นจํานวนมากทั่วทั้งประเทศ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเดินทางไปตามบ้านเรือนร้านค้าตามตลาดต่างๆ ทุกจังหวัดในเมืองไทยเราจะพบรูปถ่ายหลวงพ่อวัดปากน้ำ ที่มีผู้บูชาด้วยความศรัทธาและเพื่อให้หลวงพ่อช่วยเมตตาทางด้านค้าขายmดังเช่นที่ หลวงพ่อท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า “มีรูปของข้า ก็ไม่มีวันอดตายแน่”




ประวัติหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ

พื้นเพท่านเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2427 ที่อําเภอสองพี่น้อง ครอบครัวประกอบอาชีพทางด้านค้าขายข้าวสารโดยบรรทุกทางเรือขึ้นมาส่งที่โรงสีในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วัยเยาว์ท่านสนใจในการศึกษาหาความรู้และช่วยทางบ้านประกอบกิจการค้าขาย จนเมื่ออายุครบบวชท่านได้อุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง เมื่อปีพ.ศ.2449 มีพระอาจารย์ดี วัดประตูศาล เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นได้จําพรรษาที่วัดสองพี่น้องศึกษาวิชาจาก หลวงพ่อเหนี่ยง วัดสองพี่น้อง และหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน ฯลฯ

หลังจากนั้นไม่นานท่านได้เดินทางมาจําพรรษาที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์ท่าเตียน) กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาทางด้านพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้งต่อไป หลังจากที่ท่านได้ศึกษาวิชาต่างๆ จนเชี่ยวชาญและได้ค้นพบหลักการนั่งสมาธิในอีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า “วิชาธรรมกาย” ซึ่งเป็นการนั่งสมาธิเจริญภาวนาขั้นสูง

กระทั่งถึงปี พ.ศ.2459 ท่านได้ย้ายมาปกครองเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เมื่อหลวงพ่อสดท่านมาเป็นเจ้าอาวาสท่านได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองก่อสร้างขยายอาณาเขตวัดให้กว้างขวางด้วยการที่ท่านสอนวิชาธรรมกาย และพระธรรมควบคู่กันไป ทําให้มีประชาชนเดินทางมาเป็นลูกศิษย์ศึกษาพระธรรม และพาลูกหลานมาบวชเรียนกับหลวงพ่อท่านเป็นจํานวนมาก ทําให้วัดปากน้ำเป็นที่รู้จักทั่วไป

ด้วยความที่ท่านได้สร้างความเจริญในพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้รับสมณศักด์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2464 เป็น“พระครูสมณธรรมสมาทาน” และได้เลื่อนตําแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2500 ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระมงคลเทพมุนี” ตลอดเวลาที่ท่านได้ปกครองดูแลวัดปากน้ำท่านต้องตรากตรําทํางานหนักมาโดยตลอด เพื่อสงเคราะห์ญาติโยมที่เดินทางมาหา และดูแลการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด เช่นศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ฯลฯ

จนปีพ.ศ.2499 ท่านได้เริ่มอาพาธแต่ท่านก็ยังตั้งใจสั่งสอนหลักวิชาธรรมกายและได้มอบงานต่างๆ ให้ลูกศิษย์รับหน้าที่ไปดูแล จนเมื่อถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านก็ได้มรณภาพ สิริอายุ 75 ปี 53 พรรษา สร้างความเศร้าโศกเสียใจต่อบรรดาลูกศิษย์ของหลวงพ่อทั่วทั้งประเทศรวมถึงที่อยู่ต่างประเทศจํานวนมากมายทั่วโลก



ประวัติการสร้างพระผงของขวัญวัดปากน้ำรุ่นแรก

เกี่ยวเนื่องจากการที่ท่านได้ก่อสร้างถาวรวัตถุมากมายภายในวัด จนถึงปี พ.ศ.2493 ท่านได้ริเริ่มสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม และได้มีบรรดาลูกศิษย์มีความศรัทธาถวายปัจจัยในการทําบุญกับท่านจึงเป็นเหตุให้ท่านอยากมีของขวัญตอบแทนให้ และท่านก็ได้ตกลงใจสร้างพระเครื่องเพื่อมอบให้เป็นของขวัญ

ดังนั้นท่านจึงได้รวบรวมมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่นปูนเปลือกหอย, ผงวิเศษที่ท่านได้ทําขึ้น, ผงวิเศษจากหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, เส้นผมของหลวงพ่อสด, ดอกมะลิแห้ง, กล้วยน้ำว้า, น้ำมันตั้งอิ้ว ฯลฯ สําหรับแม่พิมพ์ได้หลวงภูวนาถสนิท (สืบ ตั้งครัตน์) สั่งช่างทําจากทองเหลืองแกะเป็นแม่พิมพ์มีจํานวนทั้งหมดสิบแม่พิมพ์ แต่มีรูปแบบเหมือนกันทั้งหมด ลักษณะเป็นพระขนาดเล็กด้านหน้ารูปพระพุทธนั่งสมาธิบนฐานบัวปางดีดน้ำมนต์มีเส้นซุ้มรอบองค์พระเหนือเส้นซุ้มเป็นเส้นขีดทั้งสองข้าง ด้านหลังเป็นยันต์อ่านว่า “พระธรรมขันธ์” กดลึกลงไปในเนื้อพระ จํานวนสร้างทั้งหมดในครั้งแรก 84000 องค์ หรือ 84000 พระธรรมขันธ์ โดยขั้นตอนการทําทั้งหมดรวมถึงการกดแม่พิมพ์พระ ทํากันเองภายในวัดและได้รวบรวมพระทั้งหมดเข้าไปเก็บไว้ในห้อง

ในทุกๆ วันหลวงพ่อจะเข้าไปบริกรรมปลุกเสกด้วย วิชาธรรมกาย ตลอดจนครบหนึ่งไตรมาส หลังจากนั้นท่านจึงได้ เริ่มแจกสําหรับผู้ที่เดินทางมาร่วมทําบุญที่วัดโดย ท่านกําหนดไว้ว่าต้องมารับที่วัดโดยตรงไม่อนุญาติให้ไปจําหน่ายข้างนอก และหนึ่งคนไม่ว่าจะทําบุญเท่าไหร่ รับได้เพียงหนึ่งองค์ในราคาต่ำสุดองค์ละ 25 บาท ในสมัยนั้น

ด้วยความศรัทธาและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเพราะมีผู้ได้รับไปแล้วเกิดปาฏิหาริย์ต่างๆ หลายรูปแบบทําให้บางวันมีผู้เดินทางมาขอบูชาพระกับหลวงพ่อเป็นจํานวนเกินกว่าหนึ่งพันคน ทําให้พระวัดปากน้ำครั้งแรกที่สร้างหมดไปอย่างรวดเร็ว

ท่านจึงต้องสร้างอีกครั้งในปีต่อมาเป็นจํานวน 84000 องค์ โดยใช้แม่พิมพ์แบบเดิมตัวเดิมเนื้อหามวลสารเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนมาเคลือบชแล็คด้านนอกองค์พระ เพราะเหตุที่พระในชุดแรกเนื้อพระยู่ยโดนน้ำแล้วละลายได้ง่ายในการสร้างครั้งที่สองจึงต้องเคลือบชแล็คเอาไว้เพื่อความคงทนขององค์พระซึ่งในวงการพระจึงเรียกรวมพระวัดปากน้ำที่สร้างติดต่อกันทั้งสองครั้งนี้ว่า “พระวัดปากน้ำรุ่นแรก”


การพิจารณาพระวัดปากน้ำรุ่นแรก

ในขั้นตอนการพิมพ์พระใช้วิธีแท่นกดสมัยเก่า ที่เรียกกระเดื่องคันโยกกดมีแม่พิมพ์ด้านหน้าและด้านหลัง ทําให้จุดที่สําคัญคือขอบด้านข้างองค์พระมักจะยุบตัวด้านข้างตามนิ้วมือที่ใช้ดึงพระออกจากแม่พิมพ์ และมักจะมีรอยเนื้อปริ้นตามขอบด้านหลังเป็นประจํา ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติที่สําคัญ ด้านแม่พิมพ์ต้องมีขนาดและรูปแบบที่ถูกต้อง ต้องจดจําพิมพ์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สําหรับมวลสารเนื้อพระเป็นมวลสารผสมในเนื้อ อย่างละเอียดมีความแน่นตัวและต้องแห้งจากการผ่านระยะเวลามาเกือบจะหกสิบปี สําหรับชแล็คต้องเก่าและแห้งจากภายในระเหยออกมาภายนอกไม่ได้เกิดจากการอบด้วยความร้อนจากภายนอก ส่วนสีของชแล็คก็เป็นตัวบ่งบอกธรรมชาติความเก่าได้ดี

ดังคํากล่าวของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่ท่านบอกไว้ว่า “ของศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก” ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปีเรามักได้ยินเรื่องราวประสบการณ์ในความศักดิ์สิทธิ์ในทุกๆ ทางทั้งแคล้วคลาดปลอดภัย ดีทางด้านค้าขายเมตตากันภยันอันตราย แม้แต่ด้านคงกระพันมหาอุดยังเคยปรากฏมาแล้ว

ฉบับ 82-พระวัดปากน้ำ-1

สุดท้ายนี้ขออนุญาติกล่าวถึงเรื่องราวส่วนตัวเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณหลวงพ่อครับ ในอดีตบิดาผู้เขียนทํางานเป็นช่างต่อเรือหางยาวอยู่ที่คลองตรงข้ามวัดปากน้ำ ชื่ออู่ต่อเรือมิตรสายชล ในตอนนั้นท่านได้เงินเดือนๆ ละ 25 บาท ท่านเล่าให้ฟังว่าอยากจะได้พระหลวงพ่อวัดปากน้ำจึงใช้จ่ายอย่างประหยัดทั้งเดือน พอเงินเดือนออกจึงไปเช่าพระวัดปากน้ำได้หนึ่งองค์ และเก็บเอาไว้อย่างดี จนเมื่อมีโอกาสได้มาตั้งอู่ต่อเรือหางยาวของตัวเองที่คลองสนามชัย เขตบางขุนเทียน ชื่ออู่ต่อเรือมิตรอํานวย และเมื่อผู้เขียนอายุได้หนึ่งขวบกว่า ท่านได้ให้ใส่หลวงพ่อวัดปากน้ำองค์นั้นไว้ในคอกันตกน้ำ และด้วยความซน ผู้เขียนตกลงไปในน้ำจริงๆ โดยที่ไม่มีใครรู้จนคนงานมาเห็นเข้าว่าเกาะรั้วไม้ไผ่อยู่ในน้ำ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าเด็กอายุขวบกว่าๆ จะว่ายน้ำเป็นและเป็นประสบการณ์ครั้งแรกกับพระองค์แรกในชีวิตที่ทําให้อยู่รอด มาจนถึงทุกวันนี้

ฉบับ 82-พระวัดปากน้ำ2

ขอขอบคุณ พี่สัญ (สุรีย์ค้าไม้) และทุกๆ ท่าน ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและรูปภาพ