แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระเกจิอาจารย์ขลังแห่งเมืองเพรียว หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง สระบุรี
31 มีนาคม 2563    3,727

พระเกจิอาจารย์ขลังแห่งเมืองเพรียว หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง

โดย ศาล มรดกไทย


เมืองปากเพรียว (จังหวัดสระบุรี) แหล่งท่องเที่ยวที่สําคัญของเมืองไทย เต็มไปด้วยธรรมชาติอันสวยงาม ที่ผู้คนหลั่งไหลไปเยี่ยมชม แม้กระทั่งสถานที่สําคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วัดพระพุทธบาทฯ วัดพระพุทธฉาย ฯลฯ ล้วนเป็นสถานที่อันทรงคุณค่าที่น่ามาสักการะบูชา แต่ถ้าจะกล่าวถึงพระเกจิอาจารย์ ชื่อดังของเมืองสระบุรีตั้งแต่ในอดีตนับได้จํานวนหลายๆ องค์ที่เป็นที่รู้จักนับถือ เช่น หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย เจ้าคุณโต วัดสมุหประดิษฐ์ ฯลฯ ซึ่งในจํานวนพระเกจิอาจารย์ที่ขึ้นชื่อในด้านพุทธคุณของวัตถุมงคลที่ได้สร้างขึ้น มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองนี้ ที่เป็นที่รู้จักต้องยกให้หลวงพ่อตาบ (พระครูเวชคามคณารักษ์) วัดมะขามเรียง เจ้าของตะกรุดหนังเสืออันโด่งดัง ได้รับการยกย่องว่าคงกระพันชนิดเชื่อถือได้ รวมถึงพระเครื่องและเครื่องรางของขลังประเภทอื่นๆ ที่ท่านได้สร้างไว้เป็นที่นิยมเสาะหาบูชา ของชาวสระบุรีและผู้นับถือศรัทธาทั่วประเทศมาจนถึงทุกวันนี้


หลวงพ่อตาบ ท่านเป็นชาวบ้านบ่อกระโดน ตําบลไผ่ขวาง อําเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2454 เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา เมื่อเติบโตท่านได้ร่ำเรียนหนังสือขั้นต้นโดยมีบิดาเป็นผู้สอน และได้ย้ายมาเรียนที่วัดศักดิ์ในอําเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยา รวมถึงยังได้เรียนอักขระเลขยันต์ทางพุทธาคมขั้นต้นกับตาแจ้งที่วัดแห่งนี้



จนเมื่อท่านมีอายุครบ 21 ปี ในปี พ.ศ.2476 จึงได้รับการอุปสมบทที่วัดมะขามเรียง ซึ่งอยู่ในตําบลเดียวกับบ้านของท่าน โดยมีพระครูศรีคณาภิบาล (โฉม) เจ้าอาวาสวัดดอนพุด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อตฺตกาโม” และได้อยู่จําพรรษาที่วัดมะขามเรียงตลอดมา ซึ่งเพียงแค่ปีแรกที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุ หลวงพ่อตาบได้ตั้งใจแน่วแน่ว่าท่านจะบวชไม่สึกตลอดชีวิต และได้เดินทางไปร่ำเรียนวิชาในทางด้านปริยัติธรรมจนท่านสามารถสอบได้ถึงนักธรรมเอกในปี พ.ศ.2480

หลังจากนั้น ท่านจึงเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อมาเรียนทางด้านวิชานักเทศน์จนในยุคนั้นท่านมีชื่อเสียงร่ำลือว่าเทศน์ได้น่าฟังประทับใจผู้ฟัง แม้กระทั่งพระสมเด็จชั้นราชาคณะยังกล่าวยกย่อง แต่ด้วยความที่หลวงพ่อศึกษาทางด้านวิชาอาคมมาตั้งแต่ยังเล็ก ท่านจึงชื่นชอบในการศึกษาวิชาอาคมมากกว่าและยังได้เดินทางมาเรียนวิชากับหลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าชายของท่าน รวมถึงยังได้เดินธุดงค์ไปเรียนวิชา เพิ่มเติมกับหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ มีความสนิทสนมแลกเปลี่ยนวิชากับหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค และพระเกจิอาจาร์ชื่อดังในยุคสมัยนั้นอีกหลายๆ องค์

เมื่อหลวงพ่อกลับมาอยู่ที่วัดเป็นเวลาที่ตําแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง และด้วยความเคารพนับถือของชาวบ้านที่มีต่อหลวงพ่อ ทําให้ท่านต้องรับเป็นเจ้าอาวาสวัดมะขามเรียงในปี พ.ศ.2489 ด้วยความที่หลวงพ่อเป็นพระที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นและเป็นกําลังสําคัญยึดเหนี่ยวจิตใจที่ทําให้ชาวบ้านต่างเดินทางมาที่วัดเพื่อช่วยหลวงพ่อปฏิสังขรณ์จนวัดมะขามเรียงมีความเจริญรุ่งเรือง สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยคุณงามความดีที่หลวงพ่อได้สร้างขึ้นทั้งภายในวัดรวมถึงนอกๆ วัด เช่น ก่อสร้างโรงเรียน ร่วมพัฒนาชุมชนประจําอําเภอ และอีกหลายๆ สิ่งที่หลวงพ่อได้ทําขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์สร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น ทําให้หลวงพ่อได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ตลอดมาจนเป็น “พระครูเวชคามคณารักษ์” และรับตําแหน่งเจ้าคณะอําเภอบ้านหมอในปี พ.ศ.2531

ในปลายปี พ.ศ.2532 หลวงพ่อได้ล้มป่วยด้วยความที่ท่านตรากตรําทํางานหนักในการก่อสร้างบูรณะวัดมาอย่างยาวนานจนมีอายุมากขึ้นและได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2532 หลวงพ่อก็ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ สิริอายได้ 78 ปี 56 พรรษา หลังจากที่ได้มีการเก็บศพหลวงพ่อไว้ไม่นานพบว่าสังขารของหลวงพ่อไม่เน่าเปื่อย คณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจนําร่างของหลวงพ่อใส่โลงแก้วให้ประชาชนที่นับถือมากราบสักการะจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังมีประชาชนเดินทางมากราบไหว้หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียงด้วยความเคารพในทุกๆ วัน

บรรดาวัตถุมงคลที่สร้างชื่อให้หลวงพ่อตาบมากที่สุด

คือ ตะกรุดหนังเสือตามตําราที่ท่านได้เรียนมาจากหลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ น้าชายแท้ๆ ของท่าน ซึ่งหลวงพ่อนอได้เมตตาถ่ายทอดให้อย่างหมดสิ้น เมื่อหลวงพ่อตาบกลับมาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดมะขามเรียง ท่านได้ทําตะกรุดแจกศิษย์จนมีประสบการณ์สูง ร่ำลือกันว่าเป็นมหาอุด คงกระพันชาตรีแบบทดลองได้ และมีผู้อยากเห็นจริงจึงได้นําตะกรุดท่านไปอาราธนายิงด้วยปืน ปรากฏว่าเป็นมหาอุดปืนยิงไม่ออกจริงตามคําร่ำลือ ทําให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักมีศิษย์มาฝากตัว ร่วมสร้างวัดให้กับหลวงพ่อจนสําเร็จด้วยดี

ฉบับ 151-พระกริ่ง หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง

ซึ่งความนิยมของตะกรุดหลวงพ่อตาบทําให้มีการทําเทียมเลียนแบบเป็นจํานวนมาก ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการดูเครื่องรางจะเป็นการดี ของแท้ๆ ของหลวงพ่อจะสร้างอย่างเรียบร้อยสวยงามดูเข้มขลัง น่าบูชาติดตัวเป็นอย่างยิ่ง ยังมีตะกรุดโทน ตะกรุดเก้าดอกที่น่าบูชาติดตัวเช่นกัน

อีกหนึ่งวัตถุมงคลที่สร้างชื่อทางด้านประสบการณ์จนเป็นที่ต้องการ คือเหรียญหลวงพ่อตาบรุ่นแรก สร้างในปี พ.ศ.2515 เนื้ออัลปาก้าชุบนิเกิ้ล จํานวนประมาณ 6000 เหรียญ เป็นเหรียญทรงเสมาด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อตาบนั่งเต็มองค์ที่ฐานเขียนว่า “หลวงพ่อตาบ” ด้านหลังเป็นยันต์ประจําตัวของหลวงพ่อด้านล่างเขียนว่า “วัดมะขามเรียง” นับเป็นเหรียญที่มีความนิยมสูงมากด้วยมีพุทธคุณเด่นชัดทางด้านมหาอุด คงกระพันชาตรี มีผู้พบกับประสบการณ์ทางด้านนี้หลายๆ ราย ปัจจุบันนับเป็นวัตถุมงคลที่มีสนนราคาสูงอันดับต้นๆ ของหลวงพ่อ

ฉบับ 151-เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง


ยังมีเหรียญรุ่นต่อๆ มาที่น่าสะสมบูชาของท่าน หรือจะเป็นวัตถุมงคลชนิดอื่นเช่น รูปหล่อหลวพ่อตาบหลายๆ รุ่น เหรียญหล่อแบบฉีด พระกริ่งเวชคามปี 2532 พระชัยวัฒน์เวชคาม พระนาคปรกใบมะขาม ล็อกเก็ตหลวงพ่อตาบ พระเนื้อผงหลากหลายพิมพ์ แหวน ผ้ายันต์ มีดหมอ ฯลฯ

กล่าวกันว่าหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ท่านเป็นพระที่มีวิชาอาคมสูงมาก นัยน์ตาของหลวงพ่อเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งแฝงไว้ด้วยอํานาจ แต่ท่านมีเมตตาสูง ทําให้มีชาวบ้านมาฝากตัวเป็นศิษย์นับถือท่านจํานวนมาก วัตถุมงคลของหลวงพ่อก็มีประสบการณ์สูงได้รับความนิยม มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยหลายๆ ท่านสะสมพระเครื่องของหลวงพ่อ เพราะความมหัศจรรย์ทางด้านพุทธคุณไม่ว่าจะเป็น ด้านมหาอุดคงกระพัน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม นับเป็นพระเครื่องขลังเครื่องรางล้ําค่าที่น่าสะสมบชาด้วยความภาคภูมิใจของ ชาวเมืองเพรียวอย่างแท้จริง